บริการชำระเงิน Payment Gateway ร้านค้าออนไลน์ เลือกใช้เจ้าไหนดี?
แม่ค้าออนไลน์รู้ไหมคะว่า ระบบชำระเงินออนไลน์ หรือ “Payment Gateway” มีความสำคัญกับธุรกิจร้านค้าออนไลน์ของเราอย่างมากเลยนะคะ เพราะมันจะช่วยทำให้ลูกค้าของเราซื้อสินค้าและชำระเงินได้อย่างรวดเร็ว ปลอดภัย รวมถึงช่วยทำให้ร้านค้าออนไลน์ของเราเข้าถึงลูกค้าได้ง่ายยิ่งขึ้นอีกด้วยนะ
วันนี้พิมเพลินเลยจะมาบอกเล่าให้ฟังว่า Payment Gateway คืออะไร สำคัญกับร้านค้าออนไลน์ยังไง แม่ค้าออนไลน์จำเป็นต้องใช้ด้วยมั๊ย? พร้อมรวมผู้ให้บริการ Payment Gateway ที่น่าสนใจมาไว้ในบทความนี้แล้วค่ะ
Payment Gateway คืออะไร
Payment Gateway (เพย์เมนท์เกตเวย์) คือ ผู้ให้บริการระบบชำระเงินออนไลน์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการชำระเงินผ่านบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต เช่น Visa, Mastercard, UnionPay, JCB และอื่น ๆ รวมถึงบริการชำระเงินต่าง ๆ เพื่อให้ลูกค้าซื้อสินค้าออนไลน์บนเว็บไซต์ได้อย่างรวดเร็ว และปลอดภัยนั่นเองค่ะ
Payment Gateway สำคัญกับร้านค้าออนไลน์ยังไง
เพราะช่องทางการชำระเงิน เป็นสิ่งสำคัญอันดับต้น ๆ ของร้านค้าออนไลน์ ถ้าร้านค้าของเรามีช่องทางการชำระเงินที่หลากหลาย ตรงกับความต้องการของลูกค้า ก็จะเพิ่มโอกาสในการปิดการขายได้มากขึ้น นอกจากนี้ Payment Gateway ยังทำร้านค้าออนไลน์ของเรา สามารถรับชำระเงินออนไลน์ผ่านบัตรเครดิต - เดบิตได้อีกด้วย ซึ่งมันจะยิ่งช่วยให้ลูกค้าของเราตัดสินใจซื้อสินค้าได้ง่ายและเร็วขึ้นกว่าเดิม แถมร้านค้ายังดูมีความน่าเชื่อถือขึ้นมาอีกหนึ่งสเต็ป และกว่า 40% ของลูกค้าที่ช้อปปิ้งออนไลน์ เขาจะเลือกซื้อสินค้ากับร้านค้าออนไลน์ที่มีบริการรับชำระเงินผ่านบัตรเครดิตด้วยค่ะ
Payment Gateway แบ่งออกเป็น 2 ประเภทได้แก่
Payment Gateway Bank : ระบบชำระเงินออนไลน์ที่เชื่อมต่อกับธนาคารโดยตรง เช่น K-Payment Gateway ของธนาคารกสิกรไทย, Krungsri Biz Payment Gateway ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีความปลอดภัยและมีค่าธรรมเนียมค่อนข้างต่ำ แต่ก็มีเงื่อนไขและข้อกำหนดในการใช้งานค่อนข้างซับซ้อน และจะต้องมียอดเงินฝากตามที่ธนาคารกำหนดด้วย ซึ่ง Payment Gateway ประเภทนี้จะเหมาะกับบริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วนมากกว่าค่ะ
Payment Gateway Non-Bank : ระบบชำระเงินออนไลน์ที่เชื่อมผ่านผู้ให้บริการด้านการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร เช่น Omise, Pay Solution, PayPal การสมัครใช้งานค่อนข้างง่าย ไม่ต้องมีเงินฝากค้ำประกัน และไม่มีค่าธรรมเนียมรายปี เหมาะกับทุกประเภทธุรกิจ รวมไปถึงร้านค้าออนไลน์ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ค่ะ
ข้อดีของ บริการชำระเงินออนไลน์ Payment Gateway
ลูกค้าสามารถช้อปปิ้งได้อย่างสะดวกสบาย เพราะมีช่องทางชำระเงินที่หลากหลาย
มีระบบรักษาความปลอดภัยสูงกว่าการชำระเงินทั่ว ๆ ไป
ร้านค้าออนไลน์สามารถรองรับการชำระเงินด้วยบัตรเครดิตและบัตรเดบิต
เมื่อลูกค้าชำระเงินเข้ามา ร้านค้าไม่ต้องรอสลิปโอนเงินจากลูกค้า เพราะทางระบบสามารถแจ้งเตือนได้ทันทีว่ามีการชำระเงินเข้ามาแล้ว
แม่ค้าออนไลน์เลือกใช้ Payment Gateway เจ้าไหนดี
อย่างที่บอกกันไปค่ะว่าประเภท Payment Gateway แบบ Non-Bank จะเหมาะกับสำหรับร้านค้าออนไลน์มากกว่า ซึ่งค่ายผู้ให้บริการหลัก ๆ จะมีดังนี้ค่ะ
1. Payment Gateway เจ้าไหนดี : Omise
Omise (โอมิเซะ) ผู้ให้บริการด้าน Payment Gateway ของเมืองไทย เป็นระบบชำระเงินออนไลน์ที่ร้านค้าออนไลน์ไว้วางใจ มีความปลอดภัยสูงที่สุด มาตรฐานระดับโลก พร้อมด้วยฟังก์ชันการทำงานที่หลากหลายมาอำนวยความสะดวกในการรับชำระเงินให้กับพ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์สามารถรับชำระค่าบริการได้หลายรูปแบบ เช่น ชำระเงินผ่านบัตรเครดิต, บัตรเดบิต, ระบบผ่อนชำระเงิน โดยไม่เสียค่าติดตั้ง ไม่มีค่าบริการรายเดือนและไม่มียอดการใช้งานขั้นต่ำ ส่วนค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 3.65% ค่ะ
2. Payment Gateway เจ้าไหนดี : 2C2P
ระบบชำระเงินออนไลน์ที่มีผู้ใช้งานทั้งธุรกิจรายใหญ่และรายเล็กใช้บริการ ผู้ใช้งานสามารถดูรายงานความเคลื่อนไหวเงินเข้าได้แบบเรียลไทม์ มีความปลอดภัยสูงจากการเข้ารหัสในการชำระค่าบริการ ค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 3.65% สามารถรับชำระเงินได้หลายช่องทาง เช่น ชำระเงินจากบัตรเครดิต, บัตรเดบิต รองรับทั้งบัตร Visa, Mastercard และมีการให้บริการ Counter Service ด้วยนะคะ
3. Payment Gateway เจ้าไหนดี : Pay Solutions
ผู้ให้บริการระบบชำระเงินออนไลน์แห่งแรกของเมืองไทย ให้บริการระบบรับชำระเงินทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ เช่น บัตรเครดิต, บัตรเดบิต, PromptPay, Mobile Banking ทั้งยังใช้ระบบความปลอดภัยจาก SSL ( Secure Socket Layer) ที่เป็นมาตรฐานสากล โดยมีค่าธรรมเนียมสำหรับบัตรเครดิตอยู่ที่ 3.60% ค่ะ
4. Payment Gateway เจ้าไหนดี : PayPal
ผู้ให้บริการชำระเงินออนไลน์ Payment Gateway ยอดนิยมจากทั่วโลก สามารถรับเงินได้ทุกที่ไม่ว่าประเทศไหน รองรับการชำระเงินทั้งบัตร Visa, Mastercard ผ่าน Internet Banking เสียค่าธรรมเนียม 4.4% หรือต่ำกว่านั้นถ้าหากว่ามียอดการใช้งานจำนวนมาก ๆ
5. Payment Gateway เจ้าไหนดี : Ksher
Ksher (เคเชอร์) ผู้ให้บริการด้านระบบชำระเงินออนไลน์ในประเทศไทย มีผลิตภัณฑ์และบริการที่รองรับช่องทางการชำระเงินที่หลากหลาย ทั้งบัตรเครดิต, บัตรเดบิต, E-Wallet ต่างๆ รวมไปถึงการผ่อนชำระ อัตราค่าธรรมเนียมขึ้นอยู่กับแต่ละช่องทางที่เลือกชำระค่ะ
และนี่ก็คือ Payment Gateway ระบบชำระเงินออนไลน์ ที่เข้ามามีบทบาทอย่างมากกับธุรกิจร้านค้าออนไลน์ พ่อค่า - แม่ค้าออนไลน์ที่อยากปรับตัวให้ทันกับพฤติกรรมการชำระเงินของผู้บริโภค ลองมองหาผู้ให้บริการระบบ Payment Gateway เพื่อเพิ่มเป็นทางเลือกการรับชำระเงินให้กับร้านค้าของคุณค่ะ เพราะถ้าลูกค้าจ่ายเงินง่าย คุณก็ขายดีขึ้น
หากคุณสนใจใช้งาน Page365 คุณสามารถ สมัครใช้งานฟรี
หรืออ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เริ่มต้นกับ Page365 หรือ ทำไมเราถึงฟรี?